fbpx

CG&CSR

CG

เพื่อให้กระบวนการธรรมาภิบาลของ ธพว. เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมิได้มุ่งเน้นที่ประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมทั้ง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการที่ดี ได้กําหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานด้านธรรมาภิบาล และทบทวนนโยบายธรรมาภิบาล รวมทั้ง กฏบัตร จริยธรรมทางธุรกิจ จรรยาบรรณของกรรมการผู้บริหาร และพนักงานเป็นประจําทุกปี

ธพว.ได้กําหนดหลักการและแนวทางธรรมาภิบาลของธนาคาร ออกเป็น 6 หมวด เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล คือ
หมวดที่ 1 การดําเนินการตามนโยบายของภาครัฐในฐานะเจ้าของ
หมวดที่ 2 สิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น
หมวดที่ 3 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
หมวดที่ 4 บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หมวดที่ 5 การเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศและความโปร่งใส
หมวดที่ 6 จริยธรรมและจรรยาบรรณ

การกำหนดนโยบาย มาตรการในการดำเนินงาน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ปงประเทศไทย ( ธพว.)

เรื่อง การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct)
ธพว.  ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การป้องกันการทุจริต มีความโปร่งใส  ซื่อสัตย์ และมีจริยธรรม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด ดังนั้น ธพว. จึงได้กำหนดนโยบาย การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานต้องถือปฏิบัติ  เพื่อเป็นช่องทางให้ พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และจากบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของ ธพว. สามารถร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม ธพว. จึงกำหนดนโยบายฉบับนี้ขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับการปฏิบัติตาม Market Conduct อย่างเคร่งครัด ด้วยธนาคารมีนโยบายที่ชัดเจนที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างคุณธรรม การปลูกจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนและป้องกัน เพื่อการดำเนินงานที่โปร่งใสและเป็นธรรม  รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct)  ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ โดยธนาคารได้ปรับกระบวนการทำงานทั่วทั้งองค์กร ในการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องกับลูกค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจ และที่สำคัญต้องไม่บังคับการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า  ธนาคารเอาจริงเอาจังและให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่อง Market Conduct โดยเฉพาะการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า โดยได้สื่อสารและอบรมเพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจและตระหนักผ่านช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การปฎิบัติมีความครบถ้วน ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

 

ธพว. ได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและให้พนักงานถือปฏิบัติ ประกอบด้วยสิทธิ  4 ด้าน ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
1.1 ลูกค้าต้องได้รับการชี้แจงถึงความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ต่างๆของธนาคารที่ชัดเจน
1.2 ลูกค้าต้องได้รับข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยง เงื่อนไข และผลตอบแทน เช่น ในรูปของ APR (Annual PercentageRate) และ    สมมติฐานที่เกี่ยวข้อง
1.3 ลูกค้าต้องได้รับข้อมูลการโฆษณาหรือการใช้สื่อทางการตลาดในการส่งเสริมการขายอย่างถูกต้องและเหมาะสม
1.4 ลูกค้าต้องได้รับเอกสารสรุปข้อมูลสําคัญประกอบการ เสนอขายผลิตภัณฑ์ ที่ระบุลักษณะพิเศษ และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ด้วยถ้อยคํา            ที่กระชับ เข้าใจง่าย ตามรูปแบบที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้ออผลิตภัณฑ์

2. สิทธิที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินได้อย่างอิสระ
2.1 ลูกค้ามีสิทธิตัดสินใจลงทุนอย่างอิสระ และสามารถปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยได้
2.2 ลูกค้ามีสิทธิปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร และธนาคารต้องให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อหรือไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
2.3 ลูกค้ามีสิทธิให้คํายินยอมหรือปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลตามเอกสารหนังสือให้ความยินยอมซึ่งแยก ออกจากสัญญาการซื้อผลิตภัณฑ์

3. สิทธิที่จะเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม
3.1 ลูกค้ามีสิทธิร้องเรียนทุกสาขาของธนาคารที่ขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์ และด้านประกันภัยโดยต้องได้รับหลักฐานว่าธนาคารได้รับเรื่องร้อง  เรียนแล้ว
3.2 ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์จากศูนย์บริการข้อมูลผู้บริโภค (call center) ของธนาคารผู้ขาย

4. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย
ลูกค้ามีสิทธิได้รับการชดเชยตามความเหมาะสมหากพิสูจน์แล้วว่าธนาคารไม่ได้ปฏิบัติตาม แนวนโยบายการขายผลิตภัณฑ์ที่ดี โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ธนาคารได้กำชับพนักงานในการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการให้บริการทางการเงินในอนาคต และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม ด้วยบริการและคำแนะนำที่เป็นเลิศ ถือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดกลไกและระบบการบริหารจัดการที่ดีอันจะนำไปสู่การเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อการนำไปสู่การพัฒนาSMEs ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

CSR

สำหรับด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาการศึกษา ด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านทำนุบำรุงพระศาสนา และด้านการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยทุกกิจกรรมจะเน้นให้คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมตลอดจน เน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงานมีความรู้สึกที่จะต้องเอื้อเฟื้อต่อสังคมภายนอกและภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ในแต่ละด้านดังนี
SME D Bank ฉลองก้าวสู่ปีที่ 18 ร่วมบริจาคสมทบทุน เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการเเพทย์เเก่โรงพยาบาลรามาธิบดี

วันนี้ (17 ม.ค. 2563) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมบริจาคเงินที่ได้รับเกียรติจากหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนลูกค้าผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป ร่วมสมทบทุนในโอกาสคล้ายวันสถาปณา “ก้าวสู่ปีที่ 18 ของ SME D Bank” เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 414,200 บาท  โดย อาจารย์นายแพทย์สุกิจ แย้มวงษ์  รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายศูนย์สนับสนุนพันธกิจ หัวหน้าศูนย์สุขภาพแนวหน้ารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นผู้รับมอบ ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower

ธพว.ร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2562 ณ วัดริ้วหว้า จ.อ่างทอง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะประธานกรรมการธนาคาร  นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร และพนักงาน  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank    ร่วมบริจาคจตุปัจจัยทำบุญ และร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2562 เพื่อสมทบบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ และเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม ณ วัดริ้วหว้า ต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง  ซึ่งถือเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ก่อให้เกิดความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวร รวมทั้งสนับสนุนวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมวินัย เป็นศูนย์รวมของประชาชนในการจัดพิธีวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาสืบไป  พร้อมกันนี้ ได้ร่วมบริจาคทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดริ้วหว้า จำนวน 28 ทุน  ณ วัดริ้วหว้า ต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง

Skip to content